Skip to main content

กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง 1


ฃมติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง มาตรการป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุในงานก่อสร้างของรัฐ

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐทุกแห่งถือปฏิบัติตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร.0250/7877 ลงวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2543 ประกอบด้วย

1. อนุมัติหลักการให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ กำหนดให้มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับระบบจัดการความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้างในโครงการของรัฐ

2. กำหนดให้ผู้รับเหมาก่อสร้างยื่นซองประกวดราคา จัดทำเอกสารแนบท้ายเอกสารประกวดราคาเกี่ยวกับ “ระบบการจัดการความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง” โดยให้กำหนดเฉพาะประเภทของงานก่อสร้าง คือ

งานอาคารขนาดใหญ่ ที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกัน เกิน 2,000 ม2 หรืออาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 15.00 ม. ขึ้นไป และมีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันเกิน 1,000 ม2 แต่ไม่เกิน 2,000 ม2
งานสะพานที่มีความยาวช่วงเกิน 30.00 ม. หรืองานสะพานข้ามทางแยก หรือทางยกระดับ หรือสะพานกลับรถยนต์ หรือทางแยกต่างระดับ
งานขุด หรือ ซ่อมแซม หรือ รื้อถอนระบบสาธารณูปโภค ที่ลึกเกิน 3.00 ม.
งานอุโมงค์ หรือ ทางลอด
งานก่อสร้างที่มีงบประมาณค่าก่อสร้างเกิน 300 ล้านบาท

3. กำหนดให้ผู้รับจ้าง หรือผู้รับเหมาก่อสร้าง จัดทำแผนปฏิบัติงานความปลอดภัยในการทำงานอย่างละเอียดและชัดเจน ให้สอดคล้องกับระบบการจัดการความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง แล้วยื่นต่อผู้ว่าจ้าง หรือเจ้าของโครงการฯ ก่อนการดำเนินการก่อสร้างภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มทำสัญญาว่าจ้าง

4. กำหนดให้ผู้คุมงานของผู้ว่าจ้าง หรือของโครงการฯ เป็นผู้ควบคุม ดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานในหน่วยงานก่อสร้าง โดยให้ผู้รับจ้างปฏิบัติตามแผนปฏิบัติงานความปลอดภัยในการทำงานตามข้อ 3

5. กำหนดให้ผู้รับจ้าง หรือผู้รับเหมาก่อสร้าง ต้องปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติงานก่อสร้างตามข้อ 3 อย่างเคร่งครัด และสอดคล้องกับกฎหมาย และระเบียบที่กำหนดไว้

ระบบการจัดการความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง

1. กำหนดนโยบายความปลอดภัย และสุขภาพอนามัยในการทำงาน

2. การจัดองค์กรความปลอดภัยฯ ในงานก่อสร้าง และหน้าที่ความ รับผิดชอบ

3. กฎหมาย และข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

4. การฝึกอบรมด้านความปลอดภัยฯ

5. กำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมอันตราย

6. การตรวจความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง

7. กำหนดกฎความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง

8. การควบคุม ดูแลความปลอดภัยฯ ของผู้รับเหมาช่วง

9. การตรวจสอบ และการติดตามผลความปลอดภัยฯ

10. การรายงานอุบัติเหตุ และสอบสวน วิเคราะห์อุบัติเหตุ

11. การรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยฯ

12. การปฐมพยาบาล

13. การวางแผนฉุกเฉิน

14. การจัดเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้อง

15. อื่นๆ